แพลงก์ตอนสัตว์น้ำจืด (Freshwater Zooplankton)
แพลงก์ตอนสัตว์ (Zooplankton) คือ กลุ่มสิ่งมีชีวิตที่อาศัยการล่องลอยไปตามกระแสน้ำ และกระแสน้ำจะพัดพาไปในที่ต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีขนาดเล็ก โดยแพลงก์ตอนสัตว์ จะไม่สามารถสังเคราะห์แสงและสร้างอาหารเองได้เหมือนแพลงก์ตอนพืช เช่น โปรโตซัว (Protozoa) ตัวอ่อนของ สิ่งมีชีกุ้งและปู แมงกะพรุน และลูกปลาขนาดเล็ก เป็นต้น (ละออศรี เสนาะเมือง, 2545) โดยในฐานข้อมูลสัตว์ไม่กระดูกสันหลังน้ำจืดในประเทศไทยจะกล่าวถึง 5 กลุ่มดังนี้
1. โรติเฟอร์ (Rotifers)
โรติเฟอร์เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก โดยโรติเฟอร์มีขนาดตัวอยู่ระหว่าง 50-2,000 ไมโครเมตร (Wallace, 2002) ร่างกายแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัว ลำตัว และเท้า ส่วนหัวประกอบด้วยวงขนหรือซิเลีย เรียกว่าโคโรนา (corona) ลำตัวภายนอกปกคลุมด้วยคิวติเคิล (cuticle) เรียกว่าลอริกา (lorica) ส่วนเท้าพบในโรติเฟอร์กลุ่มยึดเกาะประกอบด้วยนิ้วเท้า (toes) อาจมีเดือย (spur) ยื่นออกมา ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตเป็นแพลงก์ตอนในแหล่งน้ำจืด ในประเทศไทยมีรายงานพบโรติเฟอร์จนถึง ปี พ.ศ. 2562 ทั้งสิ้น 403 ชนิด (Meksuwan et al., 2013; Sa-ardrit et al., 2013; Jaturapruek et al., 2017; Sa-ardrit et al., 2017; Meksuwan et al., 2018)
Phylum Rotifera
Class Pararotatoria
Order Seisonacea
Class Eurotatoria
Subclass Bdelloidea
Subclass Monogononta
Order Ploima
Order Flosculariacea
Order Collothecaceae
2. ไรน้ำ (Cladocerans)
ไรน้ำจัดอยู่ในไฟลัมอาร์โทโปดา เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ที่มีความใกล้ชิดกับพวกกุ้ง ปู แต่มีขนาดเล็กกว่า มีขนาดตัวประมาณ 0.2-18.0 มิลลิเมตร ร่างกายแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนหัว อก และท้อง ส่วนหัวแยกจากส่วนอกไม่ชัดเจน มีเปลือกหุ้มส่วนหัว เรียกว่า แผ่นหัว (head shield) มีตาประกอบ (compound eye) 1-2 อัน มีขนาดใหญ่ ส่วนตาเดี่ยว (ocellus) จะมีขนาดเล็ก มีหนวด 2 คู่ ลำตัวปกคลุมด้วยเปลือกซึ่งมีลักษณะเป็นฝาประกบกันแบนด้านข้าง ส่วนอกมีขาหรือรยางค์สำหรับว่ายน้ำ 5-6 คู่ ซึ่งจะอยู่ภายในแผ่นเปลือก ส่วนท้องที่บริเวณปลายสุดของส่วนท้องมีอวัยวะที่ทำหน้าที่ปัดอาหารที่มากเกินไปออกจากบริเวณปาก เรียกว่าโพสต์แอบโดเมน (postabdomen) มีขนาดใหญ่และโค้งงอลงด้านท้อง ในประเทศไทยมีการรายงานพบไรน้ำจนถึง ปี พ.ศ. 2562 ทั้งสิ้น 120 ชนิด (Maiphae, 2008; Van Damme et al., 2013; Tiang-nga et al., 2016; Sinev et al., 2017)
Phylum Arthropoda
Class Branchiopoda
Superorder Cladocera
Order Anomopoda
Order Ctenopoda
3. โคพีพอด (Copepods)
โคพีพอดจัดอยู่ในไฟลัมอาร์โทโปดา เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ถาวรที่ล่องลอยอยู่ในน้ำตั้งแต่ระยะตัวอ่อนจนถึงตัวเต็มวัย โคพีพอดมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 0.3-4.5 มิลลิเมตร ร่างกายแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เรียกว่าเมตาโซม (metasome) ประกอบด้วย ส่วนหัว และอก (cephalothorax) มี 5 ปล้อง และมีรยางค์ขนาดเล็กใช้ในการว่ายน้ำ ที่ส่วนหัวมีหนวด 2 คู่ และยูโรโซม (urosome) ประกอบด้วยส่วนท้อง (abdomen) มี 5-6 ปล้อง มักไม่มีรยางค์ การศึกษาความหลากหลายของโคพีพอดในประเทศไทยมีการรายงานพบโคพีพอดที่ดำรงชีวิตอิสระในแหล่งน้ำจืดจนถึง ปี พ.ศ. 2562 ทั้งสิ้น 105 ชนิด (Alekseev and Sanoamuang, 2006; Watiroyram and Sanoamuang, 2017; Watiroyram, 2018a; 2018b; Boonyanusith et al., 2018; Sanoamuang and Watiroyram, 2018)
Phylum Arthropoda
Class Maxillopoda
Subclass Copepoda
Order Calanoida
Order Cyclopoida
Order Harpacticoida
4. ไรน้ำนางฟ้า (Fairy shrimp)
ไรน้ำนางฟ้าจัดอยู่ในไฟลัมอาร์โทโปดา มีลักษณะคล้ายกุ้งขนาดเล็กแต่ว่ายน้ำหงายท้อง และไม่มีเปลือกแข็ง ตัวใสอ่อนนุ่ม มีขาว่ายน้ำ 11 คู่ ลำตัวยาวประมาณ 1.1-4.5 เซนติเมตร พบในแหล่งน้ำจืดที่มีน้ำขังชั่วคราวเท่านั้น จากการสำรวจจากแหล่งน้ำจืดทั่วประเทศไทยจนถึงปี พ.ศ. 2562 พบไรน้ำนางฟ้าทั้งสิ้น 3 ชนิด (Sanoamuang et al., 2000, 2002, Sanoamuang and Saengphan, 2006) ได้แก่
1. ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร (
Streptocephalus sirindhornae Sanoamuang, Murugan, Weekers and Dumont, 2000)
2. ไรน้ำนางฟ้าสยาม (
Streptocephalus siamensis Sanoamuang and Saengphan, 2006)
3. ไรน้ำนางฟ้าไทย (
Branchinella thailandensis Sanoamuang, Saengphan and Murugan, 2002)
5. ไรน้ำกาบหอย (Clam shrimp)
ไรน้ำกาบหอยจัดอยู่ในไฟลัมอาร์โทโปดา มีความใกล้ชิดกันกับกุ้ง ปู ร่างกายแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ลำตัว และหาง ส่วนหัวประกอบด้วย ตาประกอบ และตาเดี่ยว และมีหนวด 2 คู่ ส่วนลำตัวเป็นปล้องจำนวน 10, 16, 18 และ 22-26 ปล้อง แต่ละปล้องมีรยางค์ที่เรียกว่า thoracopods ส่วนหางมีหนามจำนวน 2 แถว ลำตัวถูกปกคลุมด้วยเปลือกซึ่งลักษณะเป็นฝาประกบกัน การศึกษาความหลากหลายของไรน้ำกาบหอยในประเทศไทยจนถึงปี พ.ศ. 2562 พบทั้งสิ้น 8 ชนิด (Rogers et al., 2013, 2016)
Phylum Arthropoda
Class Branchiopoda
Order Diplostraca
Order Laevicaudata
ติดต่อและสอบถาม:
narumon@kku.ac.th สาขาวิชาขีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น